งานสื่อสารองค์กรทั่วไปประชาสัมพันธ์

นักศึกษาราชมงคลพระนคร พัฒนาหุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิด

นักศึกษาราชมงคลพระนคร พัฒนาหุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิด

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

380088_357560187659610_1772178095_n

จากปัญหาความไม่สงบที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะการลอบวางระเบิด ส่งผลให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต รวมไปถึงเกิดความหวาดระแวงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายจักรกฤษ ฉิมพิมล นายกฤตนนท์ เผือกนวล และนายชาญชัย ไม้งาม 3 หนุ่มนักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้มีแนวคิดผลิตชุดหุ่นยนต์ควบคุมแบบไร้สาย ที่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดและเข้าทำลายวงจรของวัตถุอันตรายได้ เพื่อช่วยลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการระเบิด ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจคก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2558

11145227_817736718308619_9090102114050513413_nนายจักรกฤษ กล่าวว่า แนวคิดนี้เกิดจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอหัวข้อบทความวิจัย ชุดหุ่นยนต์กู้ภัย มาให้ลองประดิษฐ์คิดค้น อีกทั้งเป็นการนำโครงงานชุดขับเคลื่อนหุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิดที่รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2012 มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำมาพัฒนาต่อในด้านการประมวลผลของหุ่นยนต์ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้านการใช้พลังงานที่น้อยกว่าหุ่นยนต์ตัวเดิม และพัฒนาโดยเพิ่มปืนแรงดันน้ำสำหรับการทำลายวงจรของระเบิด ซึ่งชุดควบคุมหุ่นยนต์ไร้สายนี้ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าสามารถใช้เก็บกู้ระเบิดได้จริงโดยควบคุมทิศทางอัติโนมัติ ภายในตัวหุ่นยนต์จะมีกล้องเพื่อตรวจหาวัตถุอันตราย เมื่อกล้องจับสัญญาณวงจรของวัตถุแล้วก็จะยิงปืนแรงดันน้ำไปที่วัตถุเพื่อทำลายวงจร ไม่ให้เกิดการระเบิด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าเก็บกู้ระเบิดได้อย่างปลอดภัย

ด้านนายกฤตนนท์ หนึ่งในผู้ร่วมทำโปรเจค กล่าวว่า วิธีการทำงานและประโยชน์ของผลงานชิ้นนี้คือ ก่อนจะใช้งานหุ่นยนต์นี้ได้ จะต้องติดตั้งแบตเตอรี่ 11.1 โวลต์ 4.5 แอมป์ จำนวน 3 ก้อน จากนั้นเปิดสวิตซ์ที่ตัวเครื่องและสวิตซ์บอร์ดไดร์ฟมอเตอร์(ตัวหุ่นยนต์) เมื่อเปิดสวิตซ์แล้วไฟสถานะแสงสีฟ้า Joypad (ชุดควบคุมทิศทางของหุ่นยนต์) จะติดอยู่ตรงมุมด้านซ้าย แสดงสถานะพร้อมใช้งานและภาพจากหุ่นยนต์ก็จะถูกส่งมาที่ Joypadทันทีเมื่อหุ่นถูกเปิดสวิตซ์ สำหรับประโยชน์ของหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ ช่วยในการค้นหา และตัดวงจรการทำงานของระเบิด นอกจากนี้ยังลดความสูญเสียและยังช่วยสร้างความปลอดภัย ให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด

ทั้งนี้ทางคณะผู้พัฒนาคาดว่าจะส่งผลงานให้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครที่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหมาะสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิด ซึ่งหากมีการนำไปใช้ก็จะสามารถลดการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศได้อย่างมาก นอกจากนี้ผลงานของนักศึกษายังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดผลงานที่ดี เพราะหากปราศจากผู้สนับสนุนแล้วนั้นประเทศไทยก็จะปราศจากเยาวชนที่มีความสามารถในการคิดค้นและพัฒนาเช่นกัน

01DSC_9654DSC_9649