งานสื่อสารองค์กรทั่วไปประชาสัมพันธ์

เรือนหมอพร พณิชยการพระนคร

larts_rmutp_PostNo10460_เรือนหมอภร
 
“เรือนหมอพร” ตั้งอยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ในปัจจุบัน เรือนหลังนี้เจ้าของเรือนเดิมคือ หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในกรมหลวงชุมพรฯ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เป็นศิลปกรรมแบบ นีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศในเขตร้อนด้วยการสร้างเป็นเรือนไม้ เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป ปี พ.ศ. 2479 กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลังจากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนแห่งนี้เพียงหลังเดียว เพื่อขยายอาณาเขตของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น เรือนหลังนี้จึงตกอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ได้มีรับสั่งถามว่า “ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง” ศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่” มีพระราชกระแสว่า “ให้อนุรักษ์ไว้” ซึ่งก็คือ “เรือนหมอพร” เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้ ในระหว่างปี พ.ศ.2454-2460 พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยและทรงตั้งชื่อตำรายาแผนไทยสมุดข่อยเล่มนี้ว่า“พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม และ ปัจจุบันะกรรม” ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ มหาวิทยาลัยฯได้บูรณะเรือนหลังนี้มาโดยตลอด ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นเรือนพยาบาลและได้ตั้งชื่อว่า “เรือนหมอพร” ต่อมาเรือนหมอพรมีสภาพทรุดโทรมลง จึงย้ายเรือนพยาบาลออกไปไว้ที่หอประชุมอาภากร แล้วบูรณะเรือนหลังนี้ขึ้นใหม่ และได้จัดเรือนหมอพรเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ” มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ภายในแสดงสิ่งของต่าง ๆ ใน หมวดเครื่องใช้ประจำพระองค์ ได้แก่ ฉลองพระองค์ทหารเรือ พระมาลา อินทรธนู หีบเหล็กสำหรับเก็บข้าวของเครื่อ งใช้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย กี๋ (ถาดไม้วางถ้วยชาม) หมวดเครื่องแพทย์ ได้แก่ ที่ปั๊มยา เครื่องบดยา หินบดยาพร้อมลูกบิด ตะแกรงร่อนยา หูฟัง อับแก้วเจียระไน โกร่งบดยาขนาดใหญ่ โกร่งราง รวมทั้งภาพถ่ายต่าง ๆ โดยสิ่งของทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการบริจาคจากผู้เคารพศรัทธาพระองค์ท่านเกือบทั้งสิ้น เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อรองรับการขยายการศึกษา อีกทั้งห้องเรียนที่มีอยู่นั้นมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่เหมาะเป็นสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องสร้างอาคารอเนกประสงค์และย้ายเรือนหมอพรไปตั้งยังตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสม สง่างาม และไม่ถูกบดบังทัศนียภาพของตัวเรือน จึงได้มีมติเห็นชอบจากกรมศิลปากรอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์และย้ายเรือนหมอพร ด้วยวิธีการเคลื่อนย้ายเรือนทั้งหลังโดยไม่มีการรื้อตัวเรือน มาอยู่ในตำแหน่งบริเวณสนามหญ้าของพื้นที่อาคาร 1 ของมหาวิทยาลัยฯ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเรือนหมอพรอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ต้องมีการย้าย “เรือนหมอพร” จากตำแหน่งเดิมไปตำแหน่งใหม่ดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเห็นว่าตำแหน่งใหม่ควรอยู่บริเวณสนามหญ้าซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งเดิมประมาณ 100 เมตร และควรยกอาคารขึ้นสูงจากเดิมประมาณ1.00 เมตร เพื่อให้อาคารแลดูสง่างาม จากการตรวจวัดอาคาร “เรือนหมอพร” พบว่าแม้จะเป็นอาคาร 2 ชั้น แต่ความสูงของอาคาร 9 เมตร เทียบเท่าอาคารสูง3 ชั้น ในปัจจุบัน เนื่องจากความสูงของอาคารมากกว่าความกว้าง จึงต้องคำนึงถึงปัญหาการเอียงเอนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนย้าย และต้องมีการเตรียมการเรื่องฐานรองรับชั่วคราวบนเส้นทางที่จะเคลื่อน “เรือนหมอพร”ด้วย ตำแหน่งใหม่ของ “เรือนหมอพร” อยู่ห่างจากตำแหน่งเดิม 78 เมตร และกำหนดให้อาคารยังคงหันหน้าไปในทิศทางเดิม ทิศทางการย้ายจึงต้องเคลื่อนไปทางด้านทแยงมุมของตัวอาคาร สิ่งที่ต้องจัดเตรียมให้พร้อมก่อนการย้ายคือแท่นรองรับรางเลื่อนและฐานรองรับที่ปลายทาง เนื่องจากตามเส้นทางที่จะวางรางเลื่อนในการเคลื่อนย้ายอาคารต้องผ่านพื้นดินที่เป็นดินอ่อน จึงต้องตอกเสาเข็มเพื่อทำเป็นฐานรองรับชั่วคราวตลอดแนวเส้นทาง เสาเข็มที่ใช้ทำจากปลอกเหล็กของเสาเข็มเจาะตอกฝังลงดินลึกประมาณ 7 เมตรไม่ต้องทำการขุดดินหรือเทคอนกรีตเพราะเป็นเสาเข็มชั่วคราว สามารถถอนปลอกเหล็กขึ้นมาใช้งานใหม่ได้เมื่อแล้วเสร็จ สำหรับในช่วงแรกทำเสาเข็มรองรับไว้ 39 ต้น วางเป็น 3 แนว เสาเข็มแต่ละต้นห่างกัน 4.00 เมตร จากนั้นทำรางเลื่อนวางบนเสาเข็ม ใต้อาคาร“เรือนหมอพร”จัดทำเหล็กรูปพรรณประกบคานไม้ที่รองรับพื้นชั้นล่างให้มีความมั่นคงแข็งแรง จากนั้นยกอาคารให้สูงขึ้นจากเดิมเพียงพอที่จะติดตั้งล้อเลื่อนที่จัดเตรียมไว้ ล้อเลื่อนจะวางลงบนรางเลื่อนอีกต่อหนึ่ง การยกอาคารให้สูงขึ้นใช้หลักการยกอาคารโดยทั่วไป คือใช้แม่แรงไฮดรอลิกขนาดประมาณ 20 – 30 ตัน วางใกล้เสาตอม่อเดิมแล้วยกอาคารขึ้นพร้อมกัน การยกอาคารในขั้นตอนนี้ยกประมาณ 35 ซม. วัตถุประสงค์เพียงเพื่อสอดล้อเลื่อนเข้าด้านล่างของอาคารได้เท่านั้น แต่สำหรับการยกอาคารที่ปลายทางเมื่อเคลื่อนย้ายไปถึงนั้น ยกสูงประมาณ 1.20 เมตร ตำแหน่งใหม่ของอาคาร“เรือนหมอพร” ยกสูงจากระดับดินประมาณ 0.80 เมตร และเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ยาวนาน จึงทำเป็นฐานรากวางบนเสาเข็ม เสาเข็มที่ใช้เป็นเสาเข็มเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร ลึก 21 เมตร เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วเริ่มต้นงานย้ายด้วยการสกัดเสาคอนกรีตเดิม ซึ่งได้ทำการบูรณะมาแล้ว เนื่องจากเสาของเรือนเป็นไม้ผุกร่อนไปมากจึงมีการนำเหล็กรูปพรรณมาประกบติดแล้วเทคอนกรีตปิดเป็นเสารูปสี่เหลี่ยม หลังจากสกัดเสาและตัดเหล็กขาดทั้งหมดจำนวน 22 เสาแล้วใช้แม่แรงไฮดรอลิกยกเรือนขึ้นสูงประมาณ 35 เซนติเมตร จากนั้นวางล้อเลื่อนทั้งหมด 16 ตัวใต้โครงเหล็กที่ประกบคานไม้ของเรือน ปลดแม่แรงลงให้น้ำหนักของเรือนถ่ายลงล้อเลื่อนซึ่งวางบนรางเลื่อนอีกต่อหนึ่ง จากนั้นใช้แม่แรงไฮดรอลิกดันเหล็กค้ำยันด้านหลังผลักให้ “เรือนหมอพร”เลื่อนมาด้านหน้าตามรางเลื่อนที่จัดวางไว้ ความยาวของรางเลื่อนช่วงแรกประมาณ 40 เมตร ใช้เวลาในการเลื่อนประมาณชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงปลายราง จากนั้นต้องหยุดการเลื่อนไว้สองวันเพื่อจัดเตรียมรางเลื่อนช่วงที่สอง รางเลื่อนช่วงที่สองนี้วางยาวถึงแท่นคอนกรีตที่จัดทำเป็นฐานรองรับ ในช่วงที่หยุดกลางทางต้องทำตัวยึดรั้งให้เรือนหยุดนิ่งกับที่ไม่เคลื่อนไหวได้ง่าย เพราะหากมีฝนตกลมแรงจะทำให้อาคารเอียงหรือหลุดจากรางเลื่อนเป็นอันตรายได้ ข้อระวังเหล่านี้เห็นผลในวันต่อมาเนื่องจากช่วงย้ายอาคารมีพายุฝนลมแรงมาก ในวันถัดมาเร่งทำรางจนเสร็จถึงปลายแท่นคอนกรีต พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายแล้ว ก็ทำการตัดตัวยึดรั้งออกแล้วจึงดันตัวเรือนให้เคลื่อนบนรางเลื่อนส่วนที่ต่อไว้ ความยาวของรางเลื่อนในส่วนที่สองนี้ประมาณ 30 เมตร ใช้เวลาเลื่อนประมาณ 20 นาทีก็แล้วเสร็จ ทำการยึดรั้งให้มั่นคงแล้วเตรียมการขั้นต่อไปเพื่อยกเรือนขึ้นแท่นคอนกรีต มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการย้าย “เรือนหมอพร”แล้วครับ เริ่มด้วยการยกเรือนให้สูงขึ้นประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อสอดรางเหล็กให้ล้อเลื่อนวางได้ ความสูงของรางที่สอดอยู่ระดับเดียวกับรางเหล็กที่วางบนแท่นคอนกรีต จากนั้นทำเสาเหล็กรองรับรางเลื่อนที่สอดใต้ล้อให้แข็งแรง แล้วเชื่อมต่อรางเหล็กที่สอดใต้ล้อเลื่อนกับรางเหล็กที่วางบนแท่นคอนกรีต เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม จึงได้ดันให้เรือนเคลื่อนต่อไปตามรางขึ้นบนแท่นคอนกรีต ระยะทางช่วงนี้ประมาณ 9 เมตรเป็นระยะทางช่วงสั้นเพราะก่อนหน้านี้ได้เคลื่อนย้ายเรือนมาหยุดไว้ตรงขอบของแท่นคอนกรีตแล้ว อันที่จริงยังต้องเลื่อนต่อไปอีกประมาณ 1.50 เมตรจึงจะถึงตำแหน่งที่กำหนดไว้ แต่ต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อนเนื่องจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯจะจัดให้มีการสัมมนาและดูงาน “การย้ายเรือนหมอพร” ตำแหน่งหยุดเรือนหมอพรเพื่อรองานสัมมนาจัดเป็นตำแหน่งชั่วคราว จึงต้องทำตัวยึดรั้งให้มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการโยกหรือเคลื่อนตัวของอาคารที่อาจเกิดขึ้นจากลมฝนที่มีมากในช่วงนี้ การยึดรั้งใช้วิธีดึงเหล็กประกบคานไม้ของตัวเรือนเข้ากับรางเลื่อนเหล็กที่วางบนแท่นคอนกรีต ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 เวลาประมาณ 14.49 นาฬิกา ผู้เข้าร่วมสัมมนาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครได้ร่วมกันออกแรงดันเลื่อน “เรือนหมอพร” เข้าสู่ตำแหน่งที่กำหนดโดยใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็แล้วเสร็จ ภายหลังจากย้าย “เรือนหมอพร” มาถึงตำแหน่งใหม่ตามต้องการแล้วขั้นตอนต่อไปคือทำการต่อและยึดเสาเดิมของเรือนกับแท่นคอนกรีต วิศวกรและสถาปนิกของกรมศิลปากรแจ้งว่าหลังจากนี้จะถมดินปรับภูมิทัศน์โดยรอบเรือนและปรับปรุงซ่อมแซมตัวเรือนเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป เชื่อได้ว่าอาคารหลังนี้จะมีความสวยงามเป็นประโยชน์ในการศึกษาสมดังเจตจำนงในการอนุรักษ์เพื่อคงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป เครดิต : http://www.finessesoil.co.th/2011/?p=31

ขอบพระคุณเพจ ตลาดชุมชนโบราณ ทั้งภาพและข้อมูล มา ณ ที่นี้